facebook

พบ 17 สายเดินเรือ 10 บริษัทนำเข้า เอี่ยว "หมูเถื่อน"

26 พ.ค. 2566
19:31

พบ 17 สายเดินเรือ 10 บริษัทนำเข้า เอี่ยว "หมูเถื่อน"


สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระช่วงที่คนหันไปสนใจเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อาจจะเปิดโอกาสให้ "หมูเถื่อน" ออกจากห้องเย็นมาเดินเล่นในตลาดได้ เพราะ จนถึงวันนี้ราคาหมูไทยยังตกต่ำ ผู้เลี้ยงขาดทุนสะสมต่อเนื่องมา 4 เดือน จากการตรวจพบผู้นำเข้า นำเข้าสินค้าไม่ตรงปก สำแดงในเอกสารนำเข้าเป็นปลา อาหารทะเลและโพลิเมอร์ แต่พอเปิดตู้พบเป็น "หมูเถื่อน" ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามนำเข้า ทำเป็นขบวนการและมีเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

ข้อมูลจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง บอกว่า ภายหลังภาครัฐมีการปราบปราม "หมูเถื่อน" ที่ลักลอบนำเข้าอย่างจริงจังตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทผู้ให้เช่าตู้สินค้าหลายบริษัทได้รับผลกระทบสูง เพราะล่าสุดกรมศุลกากรเปิดเผยว่าพบตู้หมูเถื่อนตกค้างภายในท่าเรือแหลมฉบังถึง 161 ตู้ และเชื่อว่ายังคงมีตู้หมูเถื่อนแบบปรับอุณหภูมิตกค้างอยู่ที่ท่าเรืออีกจำนวนหนึ่ง

 

ภาระตกหนักอยู่ที่บริษัทผู้ให้เช่าตู้สินค้า เมื่อสินค้าถูกจับกุมได้ บริษัทผู้นำเข้าที่เป็นเจ้าของสินค้าก็ปล่อยทิ้งสินค้าทันทีและไม่ยอมมาแสดงตัว ทำให้บริษัทผู้ให้เช่าตู้สินค้าต้องรับภาระจ่ายค่าเช่าพื้นที่เพื่อเก็บรักษาที่หน้าท่าเรือรวมกันแล้วตั้งแต่มีการนำเข้ามาจนถึงปัจจุบันนี้เฉพาะค่าเช่าพื้นที่ประมาณ 36 ล้านบาทและค่าไฟฟ้ารวม 31 ล้านบาท 

 

อย่างไรก็ตาม สังคมต้องรอการเปิดเผยรายชื่อบริษัทเดินเรือและบริษัทผู้นำเข้า "หมูเถื่อน" จากกรมศุลกากรที่ได้นำหลักฐานไปร้องทุกข์ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลการสอบสวนอาจจะมีผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดกฎหมายในคดีด้วย

 

ที่ผ่านมา 1 ปี การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมีการเปลี่ยนรูปแบบและเส้นทางการนำเข้าเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจค้นและจับกุม จากที่จับกุมได้ในไทยแม้จะนอกท่าเรือแหลมฉบัง เช่น ในห้องเย็นจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม เป็นต้น และบรรจุอยู่ในกล่องที่มีเลขรหัสสินค้า และต้นทางนำเข้าชัดเจน ระยะหลังจับกุมได้ตามแนวชายแดนที่จังหวัด สระแก้ว มุกดาหาร อุบลราชธานี สงขลา ติดประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา มาเลเซีย รวมถึงเวียดนาม ซึ่งมีความเป็นได้มากว่า "หมูเถื่อน" เหล่านี้ ถูก Re-export ออกจากไทยไปประเทศดังกล่าวแล้วนำเข้ากลับมาไทยใหม่ โดยมีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ เช่น แกะกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ออกเหลือเพียงถุงพลาสติกชั้นในเท่านั้น และมีการนำไปแปรรูปเป็นสินค้าใหม่ เช่น หมูสับหรือ หมูหมัก เพื่อทำให้กระจายสินค้าได้ง่ายขึ้น 

 

สำหรับการ Re-export จากไทยเพื่อไปขึ้นท่าเรือในประเทศเพื่อนบ้านแล้ววกกลับเข้ามาไทยอีกครั้ง ต้องมีการ "ซูเอี๋ย" กัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐและบริษัทนำเข้า หวังลดต้นทุนให้น้อยที่สุดแม้จะเสี่ยงกับการถูกจับกุมก็ตาม

 

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมศุลกากรจับกุม "หมูเถื่อน" ในตู้คอนเทนเนอร์ตกต้างที่ท่าเรือแหลมฉบังล็อตใหญ่ที่สุดจำนวน 4.5 ล้านกิโลกรัม มูลค่ามากกว่า 225 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จับกุมหมูเถื่อนโดยบรรทุกมาในตู้คอนเทนเนอร์ขับเข้ามาทางด่าน Bukit Kaya Hitam ของมาเลเซีย ผ่านด่านศุลกากรที่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นไปได้ว่าอาจเป็นหมูที่ถูก Re-export จากท่าเรือแหลมฉบังเช่นกัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่หมูเถื่อนยังคงขายแพร่หลายในไทย สร้างความเสียหายให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยเกือบ 150,000 ราย ต้องขาดทุนสะสมต่อเนื่องจากราคาที่ตกต่ำ เพราะกลไกตลาดถูกบิดเบือน ไม่สามารถขายหมูได้ในราคายุติธรรม ทั้งที่ราคาควรปรับขึ้นตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตัวจริงให้เร็วที่สุด ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับบริษัทอื่นๆ ที่สำคัญเป็นการสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้กับคนไทย

ข่าวแนะนำ

แพทย์เตือน ผักน้ำจืด เนื้อสัตว์ อย่ากินดิบ
© COPYRIGHT 2024 ROOM44 บริษัท นิวส์รูม 2020 จำกัด