ออกตัวเอี้ยด “อลงกต“ รีบปัด “สว.สีน้ำเงิน” กินรวบตำแหน่ง ประธาน กมธ. 21 คณะ ย้ำแล้วแต่คนเสนอตัว พ่วง ตีปาก "แกนนำสว.พันธุ์ใหม่" ซัดอย่าหิวแสง ออกมาแถลงข้างๆคูๆ ท้า แน่จริง ระบุให้ชัด ใครอยู่เสียงข้างน้อย - ข้างมาก เผยเอง สว.วิ่งชิงเก้าอี้ ประธานกมธ.ท่องเที่ยวฯ มากสุด
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2567 ที่รัฐสภา นายอลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด(อสส.) วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีสว.เสียงข้างน้อย แถลงข่าวว่าเสียงข้างมากคว่ำมติในการตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ยืนยันว่าไม่ใช่ แต่การตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะวินิจฉัย
ยืนยันว่า สว.ไม่มีมีอำนาจในการตรวจสอบ ยกเว้นกรณีการเสนอเพื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ในการประชุมเมื่อวานนี้(2ก.ย.) จึงมีการเสนอให้ประธานวุฒิสภาถอนเรื่องนี้ออกไป ซึ่งมีมติเห็นชอบ ไม่รับเรื่องนี้ ส่วนกรณีข้อถกเถียงเรื่องการลงคะแนนให้ความเห็นชอบนายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง อสส. ช่วงเช้าวันที่ 3 ก.ย. ปรากฏว่า ที่ประชุมสว. มีมติให้ความเห็นชอบ 184 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 คะแนน ไม่ออกเสียง 9 คน ยืนยันว่า คณะ กมธ. ได้ตรวจสอบประวัติ และความประพฤติไปยังหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องแล้ว มีการพิจารณาด้วยความรอบคอบ ถูกต้องแล้ว และในช่วงเย็นวันที่ 3 ก.ย. จะมีการพิจารณาบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด โดยจะเป็นการลงคะแนนในทางลับเช่นเดิม และจะมีการแถลงความคืบหน้าต่อไป
นายอลงกต กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการตั้งคณะกรรมาธิการ สว.ทั้ง 21 คณะ ที่สว.พันธุ์ใหม่หรือสว.เสียงข้างน้อย ออกมาเปิดเผยว่า สว.เสียงข้างมากไม่ได้ทำตามข้อตกลง โดยตีตกร่างแก้ไขข้อบังคับทั้งหมดของเสียงข้างน้อยนั้น ตนขอยืนยัน ว่า สว.ทั้งหมด มีเฉพาะ 20 กลุ่มอาชีพ จำนวน 200 คน เราไม่ได้บอกว่า เราเป็นเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย ผลการโหวตอยู่ที่การลงมติ
ก็เหมือนกับกรณีการเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรี ที่เมื่อแพ้แล้วมาบอกว่า ไม่ชอบธรรม แต่พอใน กทม.ได้เต็มพื้นที่ กลับไม่พูดถึง แล้วมาร้องกับสื่อมวลชน มาหาแสงแบบนี้หรือ เพราะไม่ว่าจะมีกรรมาธิการ(กมธ.)กี่คณะ แต่ในท้ายที่สุดการเสนอร่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่เสียงส่วนใหญ่ เห็นชอบ แม้จะมีการแปรญัตติ แต่ญัตตินั้น เสียงส่วนมากก็ไม่เห็นชอบ
“ผมไม่ได้เป็นพวกหิวแสง แต่การสร้างความแตกแยกถามว่า เสียงส่วนใหญ่หรือเสียงส่วนน้อย ต้องว่ากันไปตามมติ และสิ่งที่บุคคลคนนั้นเสนอมา ก็ไม่อยู่ในระเบียบข้อบังคับของ สว. แต่ควรไปยื่น ป.ป.ช. เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ใช่ทำให้เสียงส่วนใหญ่กลายเป็นจำเลยทันที ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ สว.”
เมื่อถามว่า สว.เสียงข้างน้อย ระบุว่า เสนออะไรไป ก็โดนกินรวบ นายอลงกต กล่าวว่า คำถามคือ สิ่งที่ สว.เสียงส่วนน้อยเสนอนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ อาทิ กรณีบัตรสนเท่ห์ ก็มีคำถามว่าควรพิจารณาหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าคณะกมธ. ไม่นำบัตรสนเทห์มาพิจารณา เพราะเห็นว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ และที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบ เพราะบัตรสนเท่ห์ ไม่สามารถระบุความบกพร่องทางจริยธรรมของผู้สมัครได้ ถามว่า เหตุใดท่านจึงไม่ระบุให้ชัดว่า เสียงส่วนน้อยมีกี่คน ยกตัวอย่าง ในวันที่มารายงานตัว สว. ที่มีการถือป้ายบอกว่ามี 9 คน แต่พอลงมติ มีเสียงไม่เห็นด้วยเพียง 2 คน ดังนั้น อย่าอธิบายโดยไม่สนตรรกะ ขอให้ระบุตัวตนมาเลยว่า เสียงส่วนน้อยมีใครบ้าง กี่คน”
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่า กลุ่มสว.สีน้ำเงิน จะเข้าไปดำรงตำแหน่ง ประธาน กมธ. สวย.ทั้ง 21 คณะ นายอลงกต กล่าวว่า ยังไม่สรุปเช่นนั้น มีการเห็นชอบให้มีการตั้ง กมธ. 21 คณะ ขั้นตอนต่อไป จะมีการเสนอชื่อบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในคณะกมธ.ก่อน แล้วจึงจะเลือกบุคคลอีกครั้งว่า ใครจะดำรงตำแหน่งอะไรในคณะกมธ.นั้นๆ ยืนยันว่ายังไม่มีการกำหนดชื่อ ทั้งนี้ กมธ. ที่ สว.อยากเข้ามากที่สุด คือ กมธ.การท่องเที่ยว วถฝุฒิสภา ส่วนตนต้องการอยู่ในคณะ กมธ. ติดตามงบประมาณ วุฒิสภา
ส่วนควรเลือกคนในคณะ กมธ. ให้ตรงกันกลุ่มอาชีพหรือไม่นั้น นายอลงกต กล่าวว่า คงต้องดูตัวเองก่อนว่า ตัวเองมาจากกลุ่มอาชีพไหน ซึ่งที่สุดแล้ว ขึ้นอยู่กับการเสนอ และเป็นสิทธิ์ของแต่คน ที่จะลงในคณะ กมธ. คณะไหน หรือจะเสนอชื่อมาแบบกลุ่ม ก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่อย่าลืมว่า คนที่จะเป็นประธาน กมธ.นั้น จะเป็นได้แค่ตำแหน่งเดียว ต้องลาออกจากตำแหน่งประธาน กมธ.ในคณะอื่น