คกก. ซอฟต์พาวเวอร์ นัดแรกตั้ง 11 อนุฯ สาขาอุตสาหกรรม ส่งเสริมจัดเทศกาลในไทยดึงดูด นทท. คาดไตรมาส 4 สร้างเม็ดเงิน 1.5 ล้านล้านบาท
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566 เวลา 16.30 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาณการประชุมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการ , นายพันศักดิ์ วัญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการ และนายชัชชาติ สัทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมานคร ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุม
นางสาวแพทองธาร เผยว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมคณะดำเนินงานว่าตามแผนที่กำหนดไว้ 100 วันแรกจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง , 6 เดือน และ 1 ปี โดยอุตสาหกรรมทั้ง 11 สาขา มีแผนว่าในวันที่ 11 ม.ค. 67 จะได้เห็นอะไรบ้าง ขณะนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการของแต่ละสาขามาขับเคลื่อนรวมถึงการนำเสนอต่อ ครม. เพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและของบประมาณต่างๆ ซึ่งจะมีการนัดประชุมทุกๆ 1 เดือน
สำหรับโครงการ Colorful Bangkok Winter Festival กะประมาณคร่าวๆ ในไตรมาส 4 จะสร้างรายได้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท และจะเพิ่มนักท่องเที่ยว 25 -30 ล้านคน
นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา 1 ปี หลายคนอาจมองว่า “ซอฟพาวเวอร์” คืออะไร ซึ่งก็คือ พลังหรืออำนาจที่ไม่ได้มาจากกฎระเบียบ ลักษณะทางกายภาพ หรืออาวุธ กล้ามเนื้อ จะเห็นได้ว่าภาครัฐไม่ได้มีซอฟพาวเวอร์มาก นอกจากมีอำนาจจากกฎระเบียบจัดงบประมาณ แต่หน้าที่เราคือก็สามารถนำ Hard Power ไปช่วย Soft Power ให้มีพลัง โดยการทำ Colorful Bangkok Winter Festival เพราะคิดว่าประเทศไทยควรมีเทศกาลที่สามารถดึงคนมาเหมือนกับเทศกาลระดับโลก ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง กรุงเทพมหานคร , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงวัฒนธรรม โดยกิจกรรมในปีนี้อาจไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากเนื่องจากเวลาสั้น แต่เชื่อว่ากิจกรรมจับเป็นเนื้อหาที่ดึงนักท่องเที่ยวจำนวนมากมา รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้ จะตกลงสู่รากหญ้าชุมชนจำนวนมาก และอย่างที่บอกว่าภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุน ส่วนเอกชนต้องเป็นตัวหลักในการคิดเนื้อหา
ด้าน นายสุรพงษ์ ระบุว่า ประเทศไทยจะต้องผลักดัน one stop service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวรอบด้าน โดยจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) พัฒนาระบบเทคโนโลยี จากนั้นจึงจะเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อนำร่องในบางหน่วยงานก่อนจะดำเนินการจริง เสมือนเป็นการริเริ่ม Kick-off ในแต่ละโปรเจค ขณะเดียวกันก็จะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดกฎหมายอย่าง พรบ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในแต่ละสาขาให้สอดคล้องกับนโยบายซอร์ฟพาวเวอร์ของรัฐบาล