กทม. จ่อประกาศห้ามรถบรรทุกวิ่งขึ้นสะพานเหล็ก-ถ.ศรีอยุธยา ยันฝาท่อรับน้ำหนักเกิน 28 ตัน เตรียมนำคานเหล็กที่งอมาวิเคราะห์สาเหตุ
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 9 พ.ย. 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่าวันนี้ได้มีการเชิญประชุมหน่วยงานถกปัญหางานก่อสร้างบนผิวจราจรในพื้นที่ กทม. โดยมีหน่วยงานหลักๆ คือ การไฟฟ้านครหลวง ,การประปานครหลวง ,โทรคมนาคม (NT) , การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และสำนักระบายน้ำ โดยได้มีการพูดถึงปัญหา 2 ครั้งที่เกิดขึ้น ที่มีฝาบ่อหักจากของสำนักระบายน้ำ ส่วนของการไฟฟ้านครหลวง เป็นโครงสร้างที่ทรุดไป แต่ฝาบ่อยังแข็งแรงดี คาดว่าเกิดจากน้ำหนักรถบรรทุกมากเกินไปรวมถึงบ่อที่ถูกออกแบบไม่เหมาะสำหรับแบกน้ำหนักมากๆ
โดยส่วนแรกคือการควบคุมน้ำหนักของรถบรรทุก ซึ่งได้ขอให้ทุกหน่วยงานสังเกตได้เลย ตามกฎหมายกำหนดสามารถบรรทุกได้ 25 ตัน รถเปล่ามีน้ำหนักประมาณ 10-11 ตัน โดยทั่วไปดิน 1 คิว หนักประมาณ 1.5 ตัน หากวัดขนาดกระบะบรรทุกของรถน่าจะไม่เกินครึ่งกระบะขนาดใหญ่
สำหรับเรื่องของโครงสร้าง หากเป็นโครงสร้างถาวรก็จะมีการออกแบบอย่างละเอียด แต่โครงสร้างชั่วคราวนั้นจริงๆ ก็ออกแบบสำหรับรองรับน้ำหนักรถบรรทุกเกิน 28 ตัน
ส่วนการคืนสภาพผิวจราจรให้เรียบ การไฟฟ้านครหลวงได้เรียกผู้ว่าจ้างให้ปรับปรุงฝาบ่อให้มีความเรียบ และปลอดภัยมากขึ้น โดยปรับเป็นฝาบ่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเป็นฝาเรียบ เพื่อลดจำนวนรอยต่อ พร้อมทั้งเพิ่มความแข็งแรงของคานเหล็กในจุดที่มีความเสี่ยง ที่มีรถบรรทุกวิ่งผ่าน จะทยอยปรับให้เสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2567 สำหรับพื้นที่ที่มีดินทรุดตัว กทม.จะเพิ่มเวลาการก่อสร้างบ่อบนถนนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะโดยปกติจะก่อสร้างในเวลา 22.00-05.00 น. เท่านั้น ทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างมีเพียง 3-4 ชั่วโมง เพราะจะต้องใช้เวลาในการเตรียมงานและเก็บงาน
ทั้งนี้ กทม.จะออกประกาศห้ามรถบรรทุกวิ่งในเส้นทางที่มีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำไปบ์แจ็กกิ้ง (Pipe Jacking) ของสำนักการระบายน้ำ กทม. เช่น บริเวณถนนศรีอยุธยา โดยจะประสานกับทางตำรวจกวดขันห้ามรถบรรทุก รวมถึงสะพานข้ามแยกที่เป็นสะพานเหล็กที่สร้างมานาน อาทิ ทางยกระดับพระราม 9 สะพานไทย-ญี่ปุ่น และสะพานไทย-เบลเยี่ยม
ด้าน นายฐิติวุฒิ เงินคล้าย รองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่าบ่อที่ทรุดเมื่อวานนี้ (8 พ.ย.66) เป็นบ่อแบบ Tpye-O มีน้ำหนักฝาปิดอยู่ที่ 9 ตัน มีความกว้าง 6 เมตร ยาว 9 เมตร ซึ่งจะสามารถรับน้ำหนักได้เกิน 28 ตัน และรับน้ำหนักได้สูงสุดประมาณ 40-50 ตัน โดยเปิดหน้างานมาแล้วประมาณ 1 เดือน ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร ยืนยันว่าทางผู้รับจ้างของการไฟฟ้านครหลวง ได้ออกแบบรองรับน้ำหนักบรรทุกเกิน 28 ตัน เบื้องต้นผู้รับจ้างได้แจ้งความกับ สน.พระโขนง ไว้แล้ว และหลังจากนี้จะเพิ่มขนาดเหล็ก คานคู่ และเสริมคานให้แข็งแรงขึ้น โดยคืนนี้จะมีการเปิดฝาบ่อเพื่อนำคานเหล็กที่หักงอ มาวิเคราะห์สาเหตุการวิบัติที่รับน้ำหนักบรรทุกไม่ไหวต่อไปด้วย