กสม.ชี้ งานคุ้มครองสิทธิไม่มีวันจบ ปี 65 ร้องเรียนทะลุ 1 พันเรื่อง
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่โรงแรมเซ็นทรา ฯ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวระหว่างเปิดงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566” ภายใต้แนวคิด “75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมสำหรับทุกคน”ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรกที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่า ด้วยสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ การคุ้มครอง ส่งเสริมแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งกสม.ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานเชิงประจักษ์ อาทิ ผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย การขับเคลื่อนกฎหมายรับรองสิทธิกลุ่มต่างๆ ผลักดันให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ แก้ไขปัญหากลุ่มพระภิกษุ กลุ่มคนไร้สัญชาติ หรือกลุ่มอื่นที่อาจจะถูกทอดทิ้งไว้ ล่าสุดมีการแก้ไขทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ภารกิจของกสม.และเครือข่ายคงยังไม่สำเร็จในเร็ววัน เพราะยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งไม่เจตนา ไม่เข้าใจ หรือละเมิดกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนประเด็นท้าทายไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สังคมผู้สูงวัย การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง จึงต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่อเนื่องทั้งในรายประเด็น การปรับโครงสร้าง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารประกอบการประชุม มีรายงานปีงบประมาณ 2565 มีเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชน 1,149 เรื่อง โดย 3 อันดับแรกคือ เรื่องสิทธิและสถานะบุคคล 402 เรื่อง คิดเป็น 34.99 % สิทธิในกระบวนการยุติธรรม 152 เรื่อง คิดเป็น 13.23 % และสิทธิชุมชน 59 เรื่อง คิดเป็น 5.13% ส่วนประเด็นสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิและความเสมอภาคทางเพศ สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิและเสรีภาพในการศึกษา ส่วนพื้นที่ที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ ภาคตะวันออก 313 เรื่อง คิดเป็น 27.24% กทม.203 เรื่อง คิดเป็น 17.67% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 178 เรื่อง คิดเป็น15.49 %