รู้จักโรคตาล้า ปัญหาสายตาที่ไม่ควรมองข้าม
ถึงแม้ว่าปัจจุบันเราจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำงานต่างๆผ่านออนไลน์ อ่านหนังสือนิยายออนไลน์ต่างๆ หรือเครื่องมือสื่อสารที่สะดวกรวดเร็วอย่าง โทรศัพท์มือถือที่เปรียบเสมือนปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวันไปแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าหากเรามีพฤติกรรมการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เช่นกัน
“อาการตาล้า” เป็นหนึ่งในอาการที่เป็นผลมาจากการใช้สายตามากเกินไปในระยะเวลานานๆ จนทำให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกปวดตา คันตา ตาแห้ง การมองเห็นเบลอ ไม่ชัดเจน
โรคตาล้า คืออะไร?
โรคตาล้า หรือ Asthenopia คือ ภาวะที่ดวงตาอ่อนล้าจากการผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก หรือมีการใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้ มีระดับอาการที่ไม่รุนแรงถึงแก่ชีวิต แต่จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก
อาการแบบไหนเรียกว่า “ตาล้า”
- ปวดตา กระบอกตา หรือบริเวณรอบๆ ดวงตา
- มีภาวะตาแห้ง
- เกิดการระคายเคืองตา คันตา หรือ แสบตา
- มีน้ำตาไหลออกมาบ่อยๆ
- มีอาการตาล้า ตาเบลอ มองไม่ชัดเจน
- ดวงตามีความไวต่อแสง
- มองเห็นภาพซ้อนกัน
- บางรายอาจมีอาการอื่นๆเพิ่มเติมร่วมด้วย เช่น วิงเวียนศีรษะ เกิดอาการปวดไมเกรน รู้สึกอยากอาเจียน ภาวะบ้านหมุน กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก หรือปวดคอ บ่า ไหล่
ป้องกันอาการตาล้าอย่างไรได้บ้าง?
- พักสายตา
การพักสายตา เป็นเรื่องง่ายๆที่ใครหลายๆคนมักมองข้ามไป ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถแบ่งเวลาการใช้งานสายตา และการพักสมองของเราได้ โดยใช้กฏ 20-20-20 คือ พักสายตาจากกิจกรรมหรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ โดยการหลับตา หรือมองออกไปยังวิวทิวทัศน์ ต้นไม้ วัตถุอื่นๆที่อยู่ห่างออกไปในระยะอย่างน้อย 20 ฟุต ในทุกๆ 20 นาทีที่ทำกิจกรรม ซึ่งละสายตาประมาณ 20 วินาที
- แสงสว่าง
ก่อนทำกิจกรรมใดๆ ควรสังเกตดูก่อนว่า สถานที่นั้นๆมีแสงสว่างที่เพียงพอหรือไม่ และพยายามหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้สายตาในที่มืด หรือที่แสงสว่างน้อย
- ดูแลตนเอง
สังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิต การประกอบอาชีพ รวมไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปกป้องเราจากอาการตาล้าได้ เพราะหากเรารู้สิ่งที่เป็นความเสี่ยง ก็จะทำให้หาทางแก้ไขสิ่งต่างๆได้ตรงจุดกว่า
- ตรวจสายตาเป็นประจำ
การเข้ารับการตรวจสายตาเป็นประจำ ไม่เพียงแต่จะสามารถป้องกันอาการตาล้าได้เท่านั้น เพราะการตรวจสายตา สามารถตรวจประเมิน และค้นหาสัญญาณความผิดปกติอื่นๆที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในดวงตาของเราได้