facebook

รู้ทัน 5 ปัญหาสุขภาพจิต ที่ชาวออฟฟิศไม่ควรมองข้าม

28 ส.ค. 2567
19:53

พนักงานออฟฟิศอย่างพวกเรา แน่นอนว่าทุกวันนี้สิ่งที่หลายคนจะต้องสู้และแบกรับกับปัญหาต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความกดดันจากหน้าที่การงานอันหนักอึ้ง สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย ไหนจะภาพลักษณ์หน้าตาทางสังคม หลายสิ่งที่ต้องพบเจอในแต่ละวัน หลอมรวมกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่พร้อมจะรัวหมัดเข้าใส่ไม่ยั้ง ทั้งร่างกาย รวมถึงสุขภาพจิตใจ วันนี้เราจึงมี 5 ปัญหาสุขภาพจิต ที่ชาวออฟฟิศไม่ควรมองข้าม มาฝากทุกคนกันค่ะ


5 ปัญหาสุขภาพจิต ที่ชาวออฟฟิศควรระวัง


1. ความเครียดสะสม

การใช้ชีวิตบนความตึงเครียด ความกดดัน และมีความคาดหวังสูง 5-6 วันต่อสัปดาห์ มักเป็นสาเหตุของอาการเครียดสะสม หนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนเป็นแต่ไม่รู้ตัว เรียกได้ว่ารู้ตัวอีกทีก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและคนรอบข้างไปแล้ว สังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปทั้งด้านอารมณ์และการใช้ชีวิต เช่น นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก นิ่งเงียบ เบื่อหน่ายชีวิต เศร้าหมอง ความต้องการทางเพศลดลง เป็นต้น ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นภาวะอันตรายที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางกายตามมาได้ ทั้งหัวใจ ความดันโลหิต ไมเกรน เครียดลงกระเพาะ และอื่นๆ ได้


เราสามารถจัดการความเครียด (ก่อน) สะสม ด้วยการวิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหาและแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุนั้นๆ เช่น จัดแจงสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ดูสดชื่น ด้วยการปรับเปลี่ยนมุมโต๊ะทำงานใหม่ออกไปพบปะผู้คน ท่องเที่ยว ชอปปิง แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่สามารถจัดการกับความเครียดด้วยตัวเองได้ หรือเครียดมากจนไม่ไหวแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักบำบัด พูดคุยเพื่อหาแนวทางแก้ไขวิธีอื่นๆ แทนค่ะ


2. ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome)

ปัญหาภาวะหมดไฟการทำงาน เรียกได้ว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่กำลังมาแรงในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ คือภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจอันมีที่มาจากความเครียดสะสม ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้วว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลรุนแรงและคุกคามการดำเนินชีวิตได้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ภาระงานที่หนักซับซ้อนเกินกว่าที่จะรับผิดชอบได้ไหว บั่นทอนจิตใจจนกลายสภาพเป็นความหมดไฟในที่สุด ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ส่งผลให้มุมมองที่มีต่อการทำงานเป็นไปในด้านลบ ขาดความสุข หมดแรงจูงใจไม่อยากลุกไปออฟฟิศในยามเช้า และอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานต่ำลง ซึ่งหากปล่อยให้นานวันเข้าอาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้


วิธีรับมือกับภาวะหมดไฟในการทำงานนั้น คือการเข้าใจและยอมรับเปิดใจกับคนรอบข้าง ปรึกษาเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้าถึงปัญหาที่ต้องแบกรับไว้ ยอมรับในความต่าง รับฟังความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกัน ปล่อยวางในเรื่องที่นอกเหนือการควบคุม ฟื้นฟูแก้ไขก่อนจะสายได้ด้วยตัวเองโดยการไม่เก็บงานกลับไปทำที่บ้าน แยกเวลาส่วนตัวและงานออกจากกันให้ชัดเจน


3. ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low self-esteem)

ปัญหาสุขภาพจิตที่ชาวออฟฟิศหลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญภาวะนี้อยู่ นั่นคือ ความรู้สึกเศร้าใจ ไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองได้ตัดสินใจทำลงไปแล้วมากเสียจนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า สูญเสียความรู้สึกให้เกียรติตัวเอง แบกรับปัญหาและกล่าวโทษว่ามีต้นเหตุมาจากตัวเองไม่ดีพอ ตีความเหตุการณ์ต่างๆ ในแง่ลบเสมอ เป็นภาวะเสี่ยงมากที่จะก้าวข้ามสู่โรคซึมเศร้า สัญญาณเตือนที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับผู้กำลังเผชิญวิกฤติ Low self-esteem คือความอ่อนไหวไปกับเรื่องเล็กน้อยได้ง่าย วิตกกังวล ไปจนถึงกลัวการเข้าสังคมเพราะกลัวที่ต้องถูกปฏิเสธ ขณะเดียวกันก็ไม่กล้าปฏิเสธคำขอของผู้อื่นเนื่องจากกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเองที่สะสมมาเป็นเวลานาน


แนวทางแก้ไขคือ การเรียกคืนสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง เริ่มต้นได้ด้วยการให้อภัยตนเองในความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ขอให้บอกตัวเองว่ามันได้ผ่านพ้นไปแล้ว พูดขอบคุณและให้คำชมกับตัวเองในทุกความสำเร็จแม้เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย จะดียิ่งขึ้นหากได้แรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง ที่สามารถมอบพลังบวกและความสบายใจให้ได้ ยอมรับว่าความสำเร็จของแต่ละคนมีความหมายไม่เท่ากัน หยุดเอาตัวเองไปเปรียบกับผู้อื่น ความสุขก็จะเกิดขึ้นได้ในหัวใจเราเอง


4. โรคซึมเศร้า (Depression)

โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และทุกอาชีพ โดยเฉพาะในวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับความกดดันจากงานและความคาดหวังสูง โรคซึมเศร้าไม่ใช่แค่การรู้สึกเศร้าหรืออารมณ์ไม่ดีชั่วคราว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในสมองที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม โดยสัญญาณเตือนที่ควรสังเกต ได้แก่ อารมณ์ซึมเศร้าเป็นเวลานาน รู้สึกไม่มีค่า หมดพลังงานในการทำกิจกรรมที่เคยชอบ มีปัญหาเรื่องการนอน การกิน และในบางกรณีอาจถึงขั้นมีความคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย


การรับมือกับโรคซึมเศร้าหากคุณหรือคนใกล้ชิดเริ่มสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือการเปิดใจพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ และควรรีบขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช การรักษาโรคซึมเศร้ามักจะประกอบด้วยการใช้ยา การบำบัดด้วยการพูดคุย และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การสร้างกิจวัตรที่ดี และการเชื่อมโยงกับผู้คนรอบข้างที่ให้การสนับสนุน


5. กลุ่มโรควิตกกังวลและแพนิค (Panic Disorder)

กลุ่มโรควิตกกังวลและแพนิคเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้มากในวัยทำงาน สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกดดันและความคาดหวังสูงในที่ทำงาน อาจทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติของเราทำงานผิดปกติ เกิดความกลัวและวิตกกังวลอย่างฉับพลันโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน อาการของโรคแพนิคมักมาในรูปแบบของหัวใจเต้นเร็ว รู้สึกหายใจไม่ออก เวียนศีรษะ มือสั่น เหงื่อออกมาก และรู้สึกเหมือนกับว่าตนเองกำลังจะหมดสติหรือเสียการควบคุม สถานการณ์นี้อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหวาดกลัวกับการใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น


การรับมือกับกลุ่มโรควิตกกังวลและแพนิค สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ควบคู่กับการบำบัดเพื่อฝึกวิธีการจัดการกับความกังวลและความกลัว นอกจากนี้ การฝึกหายใจลึกๆ การทำสมาธิ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยให้จิตใจผ่อนคลายและลดความถี่ของอาการแพนิคได้อีกด้วย การขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการรับมือกับโรคนี้ เพราะยิ่งเริ่มรักษาได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสในการควบคุมอาการและกลับมามีชีวิตที่ปกติก็จะมากขึ้นเท่านั้น


ข่าวแนะนำ

5 เหตุผลที่ทุกคนควรดื่มน้ำตอนเช้าทันที หลังตื่นนอน
© COPYRIGHT 2024 ROOM44 บริษัท นิวส์รูม 2020 จำกัด