หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ภาวะอันตรายที่เป็นภัยเงียบ ต้นเหตุของการเสียชีวิตแบบไม่ทันตั้งตัว ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเกิดจากอะไร อาการเป็นแบบไหน สามารถป้องกันได้หรือไม่
หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เกิดจากอะไร
หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Heart Failure) เกิดจากปัจจัยที่มากระตุ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน การติดเชื้อที่ลิ้นหรือกล้ามเนื้อหัวใจ อาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันทีทันใด และอาการจะแย่ลงเรื่อยๆ ในเวลาไม่นาน เช่น เจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยหอบแบบเฉียบพลัน นอนราบไม่ได้ ร่วมกับอาจมีหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง ภาวะช็อก ไปจนถึงเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวไม่ได้เป็นเพราะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนกำลังเพียงอย่างเดียว อันดับหนึ่งคือกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันและการเกิดภาวะหัวใจวาย (Heart Attack) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อส่วนหนึ่งของหัวใจตายเฉียบพลัน นอกจากนี้ยังเกิดจากบางโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือลิ้นหัวใจผิดปกติเป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
หากผู้ป่วยเคยมีภาวะหัวใจวายบ่อยครั้งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือมีอาการลิ้นหัวใจรั่วเป็นเวลานาน หรือโรคบางโรคทำให้เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบก็มีโอกาสเช่นกัน
อาการเตือนภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
-รู้สึกอึดอัด หายใจลำบาก เมื่อออกกำลังกาย
-หายใจลำบากเมื่อนอนหงายหรือนอนราบ
-ตื่นกลางดึกเพราะไอ หรือหายใจลำบาก
-อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
-ข้อเท้า, เท้าหรือขาบวม
-เวียนศีรษะ หน้ามืด
-เข้าห้องน้ำบ่อยตอนกลางคืน
หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีลักษณะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
การรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคและสภาพความพร้อมของร่างกายผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น การรักษาด้วยยา เช่น ยาขยายหลอดเลือด, ยาลดความดันโลหิต หรือ ยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ที่เป็นการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อแก้ไขจังหวะการเต้นของหัวใจ และการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ
ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ป้องกันได้ไหม
สิ่งที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้มักมาจากการมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ และโรคทางพันธุกรรม ซึ่งมีแนวทางป้องกันดังต่อไปนี้
-ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย
-ผู้ที่มีโรคประตัวเดิม เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะไขมันในเลือดสูง ควรหมั่นพบแพทย์ตามนัดและรับประทานยาสม่ำเสมอ รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ควบคุมโรคได้ดี
-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย งดอาหารรสเค็มหรือรสจัด และอาหารที่มีโซเดียมสูง ทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ลดอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง
-ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิก และเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ทั้งแบบปกติหรือบุหรี่ไฟฟ้า
ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลกรุงเทพ,โรงพยาบาลพญาไท,โรงพยาบาลวิมุต,ไทยรัฐ